วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เมืองกาญจน์ รสกลมกล่อมของความปรับเปลี่ยน

มิได้เป็นเพียงประตูสู่ชายแดนตะวันตก มีแม่น้ำสายโบราณอิงไหลหล่อเลี้ยงมาแสนนาน แต่กาญจนบุรีเต็มไปด้วยความเป็นตัวของตัวเองอันชัดเจน

          ผ่านร้อนหนาว เรียนรับปรับเปลี่ยน ในวันที่หลายคนเดินไปข้างหน้าอย่างไม่แลกกับกลางเมืองกาญจน์ยังเหลือที่ทาง ให้บางคนยืนอยู่กับบ้าน แต่ขานรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ
          เช่นผู้คนเหล่านี้

รื่นรมย์ริมน้ำ
          พื้นที่เล็ก ๆ ริมลำน้ำแควใหญ่ยามเย็นเป็นไปอย่างสุนทรีย์ ไฟตะเกียงหวามอารมณ์ ดวงตาเปิดกว้างมองฟ้าบลูยามค่อย ๆ กลืนความโรแมนติกของแม่น้ำไว้กับค่ำคืน
          แต่หัวใจของปาจารุภัชร์ เจริญทัศนศิริ และครอบครัว กลับพองโต By de River ของคนบ้านนี้ผสมผสานอาหารพื้นบ้านภาคกลางไปกับบรรยากาศอันแสนรื่นรมย์ของคน รักการนั่งมองแม่น้ำ

          ขนมเบื้องไข่สูตรเฉพาะของครอบครัวเสิร์ฟมาบนโต๊ะไม้ให้เป็นของกินเล่น เนื้อไข่ห่อเหลืองนวลหนานุ่ม แต่งพริกชี้ฟ้า ผักชี เป็นหน้าตาม ไส้หอมกลมกล่อมระหว่างไชโป๊ว ถั่วงอก ผัดเข้ากัน ซุกซ่อนความอร่อยไว้ข้างใน เหยาะอาจาดอมเปรี้ยวหวานไปในทุกคำเคี้ยว เติมเต็มรสชาติ

          ความสมบูรณ์ของแม่น้ำและพืชพรรณส่งมอบให้ที่นี่มากไปด้วยอาหาร หลด (ไหล) บัวผัดกุ้ง กรอบหวาน ผัดกับกุ้งแชบ๊วยยิ่งเพิ่มความเอร็ดอร่อยแสนลงตัว คนเฒ่าคนแก่นั่งนึกถึงอดีตในหนองน้ำยามตักหลดบัวแต่ละชิ้น

          เมืองแม่น้ำขาดปลาสด ๆ ไม่ได้ ปลากดผัดฉ่าร้อนแรงมาด้วยเครื่องแกงและสารพัดสมุนไพร กระชาย พริกสด เข้ากันดีกับเนื้อปลากดสดหวาน ไร้ซึ่งความคาวด้วยความ “เป็น” ของคนข้างในครัว
          บ้านป่าอย่างเมืองกาญจน์ไม่ขาดความเผ็ดร้อน แม้มาอยู่ในร้านเปี่ยมบรรยากาศ แต่แกงป่าไก่ของที่นี่คงเอกลักษณ์ไว้ชัดเจน เข้ม ถึงใจในเรื่องรสชาติ ชิ้นไก่บ้านเพลินเคี้ยว น้ำแกง จัดจ้าน ใส่มะเขือเหลืองนำหน้ามะเขือชนิดอื่น อันถือเป็นมะเขือเฉพาะถิ่นของกาญจนบุรี

          แม้จะเป็นร้านนอกบ้าน แต่ By de River กลับอยากเห็นบรรยากาศพื้นบ้านแบบกับข้าวครบเครื่อง ครอบครัวพร้อมหน้า ร่วมมื้อค่ำไปอย่างกลมเกลียว

          เช่นนั้นเอง ริมน้ำแควใหญ่แห่งนี้จึงไม่ได้มีแค่วิวสวย อาหารพื้นบ้าน
          แต่มากไปด้วยแรงบันดาลใจให้คนในครอบครัวกลับมาพร้อมหน้าในวงข้าว

By de Riverเลขที่ ๓๓๗/๑ ถนนแม่น้ำแคว ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี เปิดทุกวัน เวลา ๑๗.๐๐-๒๔.๐๐ นาฬิกา โทรศัพท์ ๐๘ ๑๘๒๓ ๙๓๔๒
ผสมผสานบ้านทุ่ง
          ริมทุ่งของอำเภอพนมทวนบ่มเพาะคนมาหลากรุ่น บางคนลืมตาและหลับลงกลางไร่นา และไม่น้อยที่รอนแรมจากบ้านไปเติมเรื่องราวให้หัวใจกลับมาพร้อมเรื่องเล่า เฉพาะตน

          อย่างที่วิภาและพัทธิยา ลำไย สองพี่น้องเพิ่งนำอาหารฝรั่งกลับมาเป็นขวัญใจที่นี่ คนน้องอย่างพัทธิยาเธอว่า “อยากให้คนที่นี่มีอาหารฝรั่งกินบ้าง ไม่ต้องเข้าเมืองไปพึ่งพาแต่ในห้างค่ะ” ประโยคนั้นเรียบง่าย ไม่มีทีท่าค่อนขอด แต่มากด้วยความซื่อใสแบบผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก

          สเต็กบ้านนอกเกิดขึ้นง่าย ๆ ด้วยเหตุผลนี้ แต่ที่ยากคือสูตรเฉพาะ ซึ่งคิดค้นเรียนรู้ และปรับใช้จนเป็นเอกลักษณ์ของสเต็กต่าง ๆ และอาหารพิเศษเมนู

          สเต็กเนื้อและสเต็กหมูพกพาหน้าตาง่าย ๆ มาประดับจาน แต่ซ่อนความอร่อยไว้ในชิ้นสันในเนื้อน่องลายสำหรับคอเนื้อหอมนุ่ม เลือกระดับความสุก (และสุข) ตามใจ กินกับผักต้มต่าง ๆ บร็อกโคลี แครอต ข้าวโพด ขนมปังปิ้ง ส่วนคอหมูใครชอบแบบติดมันเลือกสันคอ อิ่มอารมณ์มันหอมตอนสุก ชอบเนื้อนุ่ม ๆ ต้องออร์เดอร์สันใน ทั้งหมดผสานรวมด้วยน้ำเกรวีสูตรพิเศษ
          ใช่จะมีแต่สเต็ก ของกินคู่เคียงสองพี่น้องก็ปรุงมันออกมาอย่างน่าลิ้มลอง สลัดกุ้งกรอบ สด ๆ กับผักนานาอันกรอบหวาน กุ้งแชบ๊วยเนื้อดีเมื่อชุบเกล็ดขนมปังหลังขึ้นจากกระทะก็กลายเป็นพระเอก เจือน้ำสลัดโฮมเมดแบบพนมทวนเพิ่มความครบรส

          เพลิน ๆ กับไก่ทอดใบเตย ส่วนปีกบนทอดอย่างคนเข้าใจในไฟและน้ำมัน กรอบนอกนุ่มใน จิ้มน้ำเกรวีที่สองพี่น้องตั้งใจหนักหนา เรียกว่าหยุดกันไม่อยู่จนชิ้นไก่เต็มจานโตหายไปในพริบตา

          จะว่าไป นานาเมนูฝรั่งที่สเต็กบ้านนอกอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายคนที่ดั้นด้นเดินทางไปทั่วทิศ

          แต่หากเทียบกับชีวิตกลางทุ่งที่หายใจอยู่เฉพาะตามฤดูกาล ใครสักคนกลับมาเติมเต็มความอร่อย มอบหัวใจให้เพื่อนบ้านไว้ในจานอาหาร

          พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องก้าวเดินออกไปตามหาฝันนอกบ้านให้เหนื่อยอ่อนอีกต่อไป

สเต็กบ้านนอก
เลขที่ ๑๗/๓ ซอยเทศบาล ๗ ถนนสายกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี ตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เปิดทุกวัน เวลา ๑๐.๐๐-๑๙.๐๐ นาฬิกา โทรศัพท์ ๐ ๓๔๕๗ ๙๐๖๗ และ ๐๘ ๖๐๖๕ ๑๕๕๕
กาแฟละมุนกรุ่นแรงบันดาลใจ
          บนทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ ที่นำพาหลายคนไปสู่ชายแดนตะวันตกของกาญจนบุรี ก่อนภูเขาจะต้อนรับ ณ ที่ราบพิกัดท้าย ๆ ของอำเภอเมืองฯ กาญจนบุรี มุมร่มรื่นพร้อมเยียวยาคนเหนื่อยล้าบนถนนหลวงด้วยกาแฟและบรรยากาศละมุนหอม

          นิสา ห้วยหงส์ทอง ใช่เพียงแต่ยืนอยู่หน้าเครื่องชงกาแฟแต่เพียงอย่างเดียว แต่เธอส่งแรงบันดาลใจทั้งหมดไปทั่วเรือนไม้เก๋ไก๋ โอบล้อมด้วยพืชพรรณ ม่านบาหลี เบิร์ดออฟพาราไดซ์ ดาหลา เย็นชื่นราวป่าทรอปิคอล

          ๔ ปีกว่า ๆ ที่คนผ่านขึ้นล่องบนถนนสายหลักของเมืองกาญจน์รู้จักบ้านกาแฟและพักรื่นรมย์ กับเครื่องดื่มมากแรงบันดาลใจชนิดนี้ก่อนจะเดินไปตามจุดหมายของตัวเอง

          อาราบิกาพันธุ์ดีจากแดนดอยภาคเหนือมากลายเป็นกาแฟร้อนเย็นหลากเมนู ที่บางครั้งเธอพลิกแพลงส่วนผสมจากสูตรมาตรฐาน “ฉีกหลักของกาแฟบ้าง ตามความชอบของลูกค้า บางคนก็เน้นนม เน้นวิปครีม แต่ความเข้มถือเป็นสไตล์ของที่นี่ค่ะ”

          ตระกูลแฟรบปูชิโนเป็นขวัญใจของหลายคน ปั่นกาแฟผสมลูกเล่นต่าง ๆ ไว้ในหน้าตาชวนลอง หรือเบสิกอย่างเอสเพรสโซ คาปูชิโน ม็อกคา ลัตเต ทั้งเย็นและร้อน ก็เน้นชัดในความ “ถึง” ของการเป็นกาแฟ ใช่แต่เพียงภาพภายนอกอันสวยเก๋ทั้งแก้ว เฟอร์นิเจอร์ หมอนหนานุ่ม หรือชุดน้ำตาลนมสีขาวนวลตา
          ใครพาความหิวขึ้นบันไดมาถึงเคาน์เตอร์ บ้านกาแฟมีเบเกอรีโฮมเมดจากเพื่อนของนิสามาคอยรอรับ หรือเมนูง่าย ๆ แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจในรายละเอียด สุกี้ทะเลจัดจ้านน้ำจิ้ม สปาเกตตีเขียวหวาน แซนด์วิชทอดนุ่มหอมแปลกลิ้น

          เมื่อความหอมหวานละมุนละไมเข้ามาเติมอยู่เต็มหัวใจ
          ถนนยาวไกลคดเคี้ยวที่รออยู่ข้างหน้าก็ไม่ใช่เรื่องน่าพรั่นพรึงที่จะกลับไปหา

บ้านกาแฟเลขที่ ๙๔ หมู่ ๙ ตำบลวังตั้ง อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณเดียวกับปั๊มน้ำมันคาลเทกซ์ (ดาวเมืองสิงห์) ซ้ายมือริมทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ ก่อนถึงแยกปราสาทเมืองสิงห์ ๕ กิโลเมตร โทรศัพท์ ๐๘ ๑๘๕๗ และ ๐๘ ๑๗๖๓ ๗๗๙๒


        ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๙  ฉบับที่ ๒  กันยายน ๒๕๕๑

ที่มา : http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1076&myGroupID=

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ล่องเรือ ชมแคว แลสะพาน ในมุมที่แตกต่าง

สุดสัปดาห์มาถึงอีกแล้ว นับเป็นวันแห่งความสุขของคนทำงาน พวกเรานัดกันไป จัด ทริปแบบสะพายเป้ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง พวกเราลงความเห็นว่า กาญจนบุรี เป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพที่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจนัก เพราะคนส่วนใหญ่ ยังหลงใหลกลิ่นอายของทะเล ถึงกาญจนบุรี ตอนสายๆ เราตรงดิ่งเข้าไปที่ สำนักงาน ททท. เพื่อหาข้อมูล จริงๆเตรียมข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาบ้าง แต่พวกเราอยากหาอะไรที่แปลกใหม่มากกว่า เราไปพบกับโปสการ์ดของร้านแห่งหนึ่ง มีรายการท่องเที่ยวพร้อมอาหารและที่พักในราคาที่ไม่แพง จึงขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ และ เดินทางไปยังจุดหมายของเรา

เราถึงจุดหมายของเราเวลา บ่ายโมงพอดี บาย เดอ ริเวอร์ เกสต์เฮ้าส์ เล็กๆ ที่มีห้องพักเพียงไม่กี่ห้อง แต่มีบรรยากาศที่สวยงาม น่ารัก ผู้คนที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี เรือนพักที่นี่มีสองหลัง แต่ละหลังมีสองห้อง ภายในดูใหม่และสะอาดมากๆ คุณแอ (เจ้าของ) เล่าให้ฟังว่า เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ร้านนี้มีจุดเด่นที่มีหน้าน้ำที่สวยงาม มองเห็นสะพานข้ามแม่น้ำแควรำไร แม่น้ำแควยามต้องแสงแดด ประกายงดงาม บรรยากาศของที่นี่ พาให้เราลืมความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง คุณแอนัดเราตอนบ่ายสองโมง วันนี้เจ้าของร้านทำหน้าที่ไกด์ให้เรา คุณแอเป็นคนเมืองกาญจน์ตั้งแต่กำเนิด จึงรู้เรื่องเมืองกาญจน์เป็นอย่างดี

เราถึงจุดหมายแรกของเราคือ เจดีย์กลางน้ำ วัดญวน คุณแอเล่าว่า วัดญวน เป็นวัดแรกๆของเมืองกาญจนบุรี ชาวญวนแถบนี้ ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองกาญจน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนใหญ่อพยพมาจากตอนกลางของเวียดนามเนื่องจากโดนรุกรานจากประเทศจีน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนามจึงหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 3 ชาวบ้านแถบนี้ จึงมีไม่น้อยที่มีเชื้อสายญวน และมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมญวน อบอวลอยู่ในวัดแห่งนี้ เจดีย์แห่งนี้ มีชื่อว่า อาคาร ญสส. เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธรูป ตามลัทธินิยมของญวน ชั้นบนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไหว้พระขอพรกันตามสมควร สิ่งที่ประทับใจ น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมภายใน สีสันสวยงามและบรรยากาศริมน้ำที่มองจากอาคารนี้ เห็นลำน้ำแควในมุมที่งดงาม มีนักท่องเที่ยวที่นิยมมาพายเรือคายัค เพื่อชมความสวยงามของลำน้ำแห่งนี้เช่นกัน

เก๋งจีนริมน้ำสวยงาม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ลายมังกรรอบพระเจดีย์ วิจิตรตระกาลตา ตามความเชื่อแบบจีน

หลังจากขอพรกันทั่วหน้า เราก็ลงเรือชมวิถีชีวิตชาวเรือชาวแพสองข้างทางของลำน้ำแควใหญ่จนถึงจุดบรรจบของลำน้ำแควทั้งสอง ซึ่งมารวมกันที่หน้าเมือง กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง ณ จุดนี้ เรียกว่า แม่น้ำสองสี มองลำน้ำแควใหญ่เป็นสีฟ้า มองลำน้ำแควน้อยเป็นสีแดง คุณแอเล่าว่า เกิดจากดินตะกอนที่ทับถมของสองแม่น้ำต่างกัน แม่น้ำแควใหญ่เป็นดินดำ น้ำจึงใสตลอดปี แม่น้ำแควน้อยเป็นดินแดง จึงมองเป็นสีแดงขุ่น เมื่อมองที่จุดที่แม่น้ำเชื่อมกัน จะเห็นว่า แม่น้ำทั้งสองมีสีที่ต่างกันอย่างชัดเจน พวกเราจึงได้เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ จากคนเมืองกาญจน์ มาถึงตอนนี้ เราได้เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ มาล่องแม่น้ำแควน้อย บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย มองเห็นบ้านทรงไทยที่สวยงาม มีภูเขาเขียวขจีและยังมีธรรมชาติที่งดงามสองฝากฝั่ง ผืนน้ำ ตัดกับภูเขาเขียวสูงใหญ่ ทำให้พวกเราตื่นเต้นกันเป็นอันมาก เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่นิยมล่องเรือ และล่องแพเพื่อการท่องเที่ยว เราจึงสังเกตเห็นแพท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีแพดิสโก้ ลากไปตามแม่น้ำ ผู้คนบ้างก็นั่งหน้าแพ เพื่อชื่นชมทิวทัศน์ บ้างก็สนุกสนานกับเสียงเพลงบนแพดิสโก้ นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกได้ตามรสนิยมและความชอบ

ซูเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่ ของชาวเรือชาวแพ

จากแม่น้ำสองสี เราใช้เวลาประมาณ สิบห้านาที เพื่อไปถึงจุดหมายต่อไป คือ วัดถ้ำเขาปูน วัดนี้มีท่าเรือสะดวกสบาย เมื่อเราขึ้นจากเรือ มีทางเดินที่ต้องข้ามผ่านทางรถไฟสายมรณะ มองเห็นทางรถไฟพาดผ่านช่องเขา ไกด์ของเราเล่าให้ฟังว่า การตัดผ่านช่องเขาลักษณะนี้ มิได้ทำด้วยเครื่องมือจักรกลใดๆ แต่เกิดจากการขุด การเจาะ ด้วยฝีมือของเชลยศึก และกรรมกรล้วนๆ เราเริ่มจินตนาการถึงความยากลำบากของเชลยศึกและกรรมการที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟแห่งนี้ จึงไม่สงสัยเลยว่า เมื่อกว่าหกสิบปีมาแล้ว จะมีความยากลำบากอะไรที่มากไปกว่าการถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะแห่งนี้ คงไม่มีอีกแล้ว สิ่งก่อสร้างนี้ คงเป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจผู้คนถึงความโหดร้ายของสงคราม จากทางรถไฟ มีร้านค้าขายสินค้าพื้นเมืองอยู่พอสมควร เราเดินไปเที่ยวถ้ำเขาปูน เราพบเด็กชายสองคน ซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์พาเราเข้าชมถ้ำ เด็กชายคนโตอธิบายถึงประวัติของถ้ำทุกถ้ำในบริเวณนี้ เด็กชายช่วยให้สถานการณ์ในถ้ำของเราสนุกสนาน และดูแลเราเป็นอย่างดี ทำให้เราเพลิดเพลินชมธรรมชาติในถ้ำและได้เรียนรู้ประวัติอันน่าสนใจ หลังออกจากถ้ำ พวกเราไปยังจุดชมวิวบริเวณหน้าศาลาพระสังขจาย ภาพธรรมชาติของแม่น้ำแควน้อยอยู่เบื้องหน้าทิวเขาสลับซ้อนสีเขียวทมึน ลมพัดเบาๆ สลับกับสายฝนโปรยปราย บรรยากาศสดชื่นและพาให้หายเหนื่อยล้าจากการชมถ้ำ

น้องๆ ทำหน้าที่ไกด์ชมถ้ำ บอกเล่าเรื่องราวประวัติของถ้ำต่างๆ

สุสานทหารสัมพันธมิตร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สุสานช่องไก่ พวกเราแทบจะไม่รู้เลยว่า สุสานสัมพันธมิตร ยังมีอีกแห่ง สุสานแห่งนี้ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณนี้เป็นค่ายกักกันเชลยศึก ของทหารญี่ปุ่น มีโรงพยาบาล โบสถ์ และสถานบันเทิงของทหารญี่ปุ่น ด้วยเหตุที่เป็นโรงพยาบาล เชลยที่เสียชีวิตบริเวณนี้ จึงถูกฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้เป็นจำนวนประมาณ 1,700 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษที่เสียชีวิตในสงคราม

การเดินทางวันนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ความสวยงามของธรรมชาติเท่านั้นที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจ แต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้การเดินทางวันนี้เป็นการเดินทางที่สนุกสนานไม่น้อย เราใช้เวลากับการล่องแพชมลำน้ำแควประมาณเกือบสามชั่วโมง จุดหมายสุดท้ายของวันนี้ คือการชมสะพานข้ามแม่น้ำแควในมุมกลางน้ำ ในเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้อัศดง ประกายของน้ำ ระยิบระยับ น้ำใส ความเขียวขจีของต้นไม้ ท้องฟ้าหลังฝน มองเห็นสายรุ้ง มุมนี้แตกต่างจากบนสะพานโดยสิ้นเชิง ตอม่อดำทะมึนพาดผ่านกลางลำน้ำเชี่ยว นับเป็นสถาปัตยกรรมที่แลกด้วยเลือดเนื้อและความยากลำบากของเหล่าเชลยศึกโดยแท้ สะพานข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้ จึงไม่น่าจะเป็นเพียงแค่สถาปัตยกรรมที่ระลึกของสงคราม แต่น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจของมนุษย์ทั้งหลายให้ตระหนักถึงความโหดร้ายแห่งสงครามที่ล้วนเกิดจากกิเลสของมนุษย์

พวกเรากลับมารับประทานอาหารเย็นที่ระเบียงริมน้ำ พนักงานของร้านมาดูแลเราเป็นอย่างดี และพูดคุยเรื่องการเดินทางของพวกเราอย่างเป็นกันเอง บรรยากาศริมน้ำลมพัดสบาย เสียงเพลงเบาๆ ทำให้เรารู้สึกสบายและผ่อนคลาย อาหารของที่นี่เป็นอาหารพื้นเมืองกาญจน์มื้อนี้รวมอยู่ในแพคเกจ มีอาหารสี่อย่าง ไฮไลท์คือแกงป่าไก่ไทย พนักงานบอกเราว่า ของเมืองกาญจน์แท้ ต้องมีมะเขือสีเหลือง ใส่มาด้วย หากคนไม่ชอบเผ็ด ผัดหลดบัว กับกุ้ง (บางคนเรียกไหลบัว ) ส่วนรากของบัวที่อยู่ใต้ดิน มีสรรพคุณแก้ร้อนในได้ดี และช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร ช่วยลดความเผ็ดได้ดี การรับประทานอาหารอร่อย ภายใต้บรรยากาศที่ดี สำหรับนักเดินทาง ถือว่าวิเศษกว่าสิ่งใดในโลก

ท้ายสุดแต่คงไม่ใช่สุดท้าย วันที่แสนสุขมักจะเป็นวันที่แสนสั้น ในความรู้สึกของเราเสมอ คงเหลือแต่ความทรงจำดีดี ที่อยู่กับเรานานแสนนาน ขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ททท. , คุณแอ เจ้าของบายเดอริเวอร์ , พี่เอก คนเรือ, และพนักงานที่น่ารักทุกท่าน สัญญาว่า จะกลับมา เมื่อพร้อม..